พิธีแต่งงาน 4 ภาคในไทย

พิธีแต่งงาน 4 ภาคในไทย

ประเพณีและพิธีแต่งงานไทย ถือเป็นขนบธรรมเนียมที่สวยงามที่ได้รับการปฏิบัติสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และเพื่อนๆทราบหรือไม่คะว่าในแต่ละภาคของประเทศไทยของเรา มี พิธีแต่งงาน ที่แตกต่างกันเนื่องด้วยวัฒนธรรม ศาสนาและความเชื่อ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่สำคัญของว่าที่คู่บ่าวสาวที่จะต้องศึกษาและตระเตรียมการจัดงานพิธีให้ถูกต้องสมบรูณ์แบบ เพื่อเป็นเกียรติแก่ครอบครัวของทั้งสองฝ่าย ซึ่งหากคู่รักคู่ไหนกำลังกังวลใจกับความเหมือนและแตกต่างในพิธีแต่ละภาคอยู่ละก็ วันนี้มานิตารวบรวมการจัด พิธีแต่งงาน ในแต่ละภาคของประเทศไทยมาฝากกันค่ะ

ภาคเหนือ

เริ่มต้นด้วยพิธีแต่งงานแบบภาคเหนือ หรือที่นิยมเรียกกันว่าการแต่งงานแบบล้านนา ปัจจุบันพิธีแต่งงานแบบล้านนามีการประยุกต์และผสมผสานกับพิธีแต่งงานแบบภาคกลางให้ให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการของพิธีคือการเชิญแขกผู้ใหญ่หรือผู้ที่เราเคารพนับถือ ญาติพี่น้อง และมิตรสหายมาทานอาหารร่วมกันในงานมงคลสมรสซึ่งมีความแตกต่างจากพิธีภาคกลาง คือลำดับพิธีน้อยกว่า ดังนี้ค่ะ

  • พิธีแห่ขันหมาก เริ่มต้นด้วยการจัดเตรียมพานบายศรีและแห่ขันหมาก นำโดยขันดอกไม้ ซึ่งเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนและแห่ไปยังบ้านเจ้าสาว เจ้าบ่าวทำหน้าที่ถือดาบและหีบผ้าใหม่ตามด้วยขบวนขันหมากเอกและขันหมากโท พานสินสอด ผ่านประตูเงินประตูทองจนด่านสุดท้ายให้ญาติเจ้าสาวที่อายุน้อยทำการเช็ดหรือล้างเท้าเจ้าบ่าวก่อนเข้าบริเวณพิธี
  • ภาคเหนือ พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย แต่งงานภาคเหนือ

    Credit: Wasin Thai Textile for Wedding

  • พิธีฮ้องขวัญหรือพิธีผูกข้อมือคู่บ่าวสาว จะมีปู่อาจารย์ทำพิธีฮ้องขวัญปัดเคราะห์เรียกขวัญ ผูกข้อมือและกล่าวอวยพร ด้วยคำล้านนาทำนองโบราณจากนั้นให้แขกเหรื่อเข้าผูกสายสิญจน์อวยพรให้คู่บ่าวสาวเพื่อเป็นศิริมงคล ในการเริ่มต้นชีวิตคู่ เพราะชาวล้านนาเชื่อว่าคนเรามี 32 ขวัญประจำอวัยวะต่างๆประจำตัว จึงมีการเรียกขวัญให้คู่บ่าวสาวมีความสุข ไม่เจ็บป่วย ปราศจากความทุกข์และเรื่องร้ายต่างๆ
  • ภาคเหนือ พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย แต่งงานภาคเหนือ

    Credit: Wasin Thai Textile for Wedding

  • พิธีไหว้พ่อแม่ เป็นธรรมเนียมปฏิบัตหลังแต่งงานได้ 3 หรือ 7 วัน คู่บ่าวสาวจะพากันไปไหว้ผู้ใหญ่ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง โดยขอศีลขอพรและร่วมทำบุญตักบาตรพร้อมทำบุญสืบชะตาตามประเพณีล้านนาค่ะ
  • พิธีส่งตัวเข้าหอ เป็นพิธีล้านนาที่สืบทอดกันมา โดยก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอจะต้องมีการมัดมือคู่เจ้าบ่าวสาวให้ติดกันก่อน พ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือจะทำหน้าที่เป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องถือบายศรีนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่แขกผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนผูกข้อมือคู่บ่าวสาว หลังจากนั้นพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวจะนอนให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนด้วยกันเป็นพิธี ก่อนจะจบด้วยการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เท่านี้ก็เป็นอันจบพิธีแต่งงานแบบล้านนาอย่างสมบูรณ์แล้วค่ะ
  • ภาคเหนือ พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย แต่งงานภาคเหนือ

    Credit: Wasin Thai Textile for Wedding

    ภาคอีสาน

    การจัดงานแต่งงานแบบฉบับภาคอีสาน ถือเป็นพิธีมงคลเฉพาะและสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกกันตามท้องถิ่นว่า “พิธีกินดอง” ค่ะ หมายถึง การกินเลี้ยงเพื่อเฉลิมฉลองการเกี่ยวดองเป็นครอบครัวเดียวกัน โดยมีขั้นตอนสำคัญ 7 ขั้นตอน ดังนี้ค่ะ

  • การสู่ขอ หรือการโอมถ้าภาษาง่ายๆ ก็เรียกกันว่าพิธีขอเมีย โดยฝ่ายชายเชิญญาติผู้ใหญ่ของตนเองไปสู่ขอฝ่ายหญิงจากญาติผู้ใหญ่ พร้อมสิ่งขอติดตัวคือ ขันใส่หมากพลูพัน พร้อมด้วยเงินอีก 3 บาท(เลขมงคลของชาวอีสาน) เมื่อเริ่มต้นพิธีพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะหยิบหมากพลูมาเคี้ยวและเข้าสู่พิธีเจรจาสู่ขอค่ะ
  • พิธีมอบค่าดอง หรือที่เรารู้จักกันว่าพิธีมอบสินสอดค่ะ เป็นหน้าที่ของเถ้าแก่ผู้หญิงทั้งสองฝ่ายที่จะตกลงกันว่าเรียกค่าดองเท่าไหร่ ฝ่ายชายก็มีหน้าที่ตระเตรียมเงินทองมาเป็นค่าดอง ส่วนฝ่ายหญิงก็มีหน้าที่จัดเตรียมสถานที่ ที่นอนหมอนมุ้งและของรับไหว้ต่าง ๆ ค่ะ
  • ภาคอีสาน พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย จัดงานแต่งงาน แต่งงานภาคอีสาน

    Credit: Lankum design – ลานคำ ดีไซน์ ร้อยเอ็ด

  • วันมื้อเต้า-วันมื้อโฮม เป็นการกินเลี้ยงในหมู่เครือญาติ บางพื้นที่เรียกว่ามื้อสุกดิบ จะมีการนิมนต์พระสงฆ์มาร่วมสวดมนต์ ทั้งบ่าวสาว ครอบครัวและเพื่อนพ้องจะมาร่วมกันฟังเทศน์ฟังธรรมพร้อมกินเลี้ยงเล็กๆก่อนวันแต่งงานหนึ่งวันค่ะ
  • พิธีแห่ขันหมาก เมื่อถึงวันแต่งงานฝ่ายเจ้าบ่าวจะตระเตรียมขบวนขันหมากเพื่อประกาศให้ทุกคนได้รับรู้ว่า คู่บ่าวสาวกำลังจะแต่งงานกัน ในขบวนขันหมากจะประกอบไปด้วย ขันเงินสินสอด ขันหมากพลู, ขันเหล้ายา, ญาติพี่น้อง และปิดท้ายด้วยขบวนดนตรีพื้นบ้านบรรเลงกันสนุกสนานเลยค่ะ
  • ภาคอีสาน พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย จัดงานแต่งงาน แต่งงานภาคอีสาน

    Credit: Lankum design – ลานคำ ดีไซน์ ร้อยเอ็ด

  • พิธีสู่ขวัญ หรือ “ประเพณีสู่ขวัญ” เป็นพิธีแต่งงานตามความเชื่อภาคอิสานที่มีการพิธีที่มีการสวดคำขวัญอวยพร เสร็จแล้วจะป้อนไข่แบ่งให้เจ้าบ่าวและเจ้าสาวกินคนละครึ่งใบ เพื่อความเป็นสิริมงคล จากนั้นก็ใช้ฝ้ายผูกข้อมือของคู่บ่าวสาวพร้อมกับอวยพร
  • ภาคอีสาน พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย จัดงานแต่งงาน แต่งงานภาคอีสาน

    Credit: Lankum design – ลานคำ ดีไซน์ ร้อยเอ็ด

    ภาคอีสาน พิธีแต่งงาน แต่งงาน งานแต่งไทย จัดงานแต่งงาน แต่งงานภาคอีสาน

    Credit: Lankum design – ลานคำ ดีไซน์ ร้อยเอ็ด

  • พิธีสมาหรือการขอขมาญาติผู้ใหญ่ คู่บ่าวสาวมีหน้าที่เตรียมผ้าโสร่ง เสื้อผู้ชายเพื่อมอบให้แก่คุณพ่อของทั้งสองฝ่ายและผ้าซิ่นพร้อมด้วยเสื้อผู้หญิง เพื่อมอบให้แก่คุณแม่ของทั้งสองฝ่ายเช่นกัน จากนั้นผู้ใหญ่จะให้พรพร้อมอบรมสั่งสอนในเรื่องการใช้ชีวิตคู่ต่อไปค่ะ
  • พิธีส่งตัวเข้าหอ ซึ่งพิธีนี้ไม่ได้มีความแตกต่างจากพิธีแต่งงานของภาคอื่น ๆ มีการจูงมือคู่บ่าวสาวเข้ามาในห้องหอที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นให้ผู้ใหญ่นอนเอาฤกษ์และโอวาทแก่คู่บ่าวสาว เมื่อทำตามทุกขั้นตอนเรียบร้อยก็ถือว่าเสร็จสิ้นพิธีแต่งงานตามแบบฉบับของชาวอีสานแล้วค่ะ
  • ภาคกลาง

    ต่อมาเป็นการจัดงานแต่งงาน ที่เราคุ้นเคยกันก่อนนะคะ นั่นก็คือ พิธีแต่งงานแบบภาคกลาง ซึ่งเป็นรูปแบบพิธีที่ได้รับความนิยมมากเนื่องจากปฏิบัติตามได้ง่ายและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมด้วยค่ะ โดยพิธีแต่งงานแบบภาคกลางจะเริ่มต้นด้วย

  • พิธีสงฆ์ ในช่วงเช้าวันแต่งงาน เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อคู่บ่าวสาว จึงมีการนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีทางศาสนา เช่นการทำบุญตักบาตรร่วมกัน การถวายสังฆทานและภัตตาหาร พร้อมกรวดน้ำและรับพรมงคลสำหรับเริ่มต้นชีวิตคู่
  • พิธีแห่ขันหมาก เป็นธรรมเนียมการฝ่าด่านกั้นประตูเงินประตูทองของเจ้าบ่าว เพื่อสู่ขอเจ้าสาว ซึ่งพิธีแห่ขันหมากนี้ไม่เพียงแต่เป็นการให้เกรียติเจ้าสาวที่เป็นสุดที่รักของครอบครัวเท่านั้น แต่ยังเป็นพิธีที่เรียกเสียงหัวเราะและรอยยิ้มให้กับแขกผู้ร่วมงานด้วยค่ะ
  • พิธีสู่ขอ เป็นพิธีการเจรจาสู่ขอโดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายกล่าวสู่ขอเจ้าสาว โดนนำสินสอดทองหมั้นมาเป็นเครื่องหมั้นหมายฝ่ายหญิง หลังจากนั้นผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะนำพานสินสอดออกมาเปิดเพื่อเข้าสู่พิธีนับสินสอด และให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันโปรยถั่ว งา ข้าวเปลือก ข้าวตอก ดอกไม้ ใบเงิน ใบทอง พร้อมอวยพรให้ทั้งคู่มีเงินทองงอกเงย สืบต่อไป
  • ภาคกลาง งานแต่งไทย แต่งงานไทย จัดงานแต่งงาน

    Credit: Freepik

  • พิธีหมั้น เป็นการสวมแหวนแทนใจของทั้งสองฝ่าย โดยเริ่มจากฝ่ายชายจะเป็นผู้สวมแหวนให้ทางฝ่ายหญิงที่นิ้วนางข้างซ้าย หลังจากนั้นฝ่ายหญิงจึงสวมแหวนให้ฝ่ายชายค่ะ
  • ภาคกลาง งานแต่งไทย แต่งงานไทย จัดงานแต่งงาน

    Credit: Freepik

  • พิธีไหว้ผู้ใหญ่ เป็นพิธีขอคำอวยพรในการเริ่มต้นชีวิตคู่แบบไทยๆ ซึ่งคู่บ่าวสาวจะนำพานธูปเทียนไปกราบผู้ใหญ่ที่เคารพ ฝ่ายผู้ใหญ่ก็จะรับไหว้ด้วยซองหรือของมีค่าพร้อมกล่าวอวยพรเริ่มต้นชีวิตคู่
  • พิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ พิธีที่เป็นความเชื่อมาแต่โบราณว่าสังข์เป็นตัวแทนความสิริมงคลและน้ำคือสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็น มั่นคงในชีวิตคู่ พร้อมเปิดโอกาสให้แขกผู้ร่วมงานได้หลั่งน้ำพระพุทธมนต์และอวยพรแก่คู่บ่าว-สาวตามลำดับอาวุธโส
  • ภาคกลาง งานแต่งไทย แต่งงานไทย จัดงานแต่งงาน

    Credit: Freepik

  • พิธีเรียงหมอนส่งตัว เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพิธีแต่งงานแบบภาคกลาง โดยเชิญผู้ใหญ่ที่เคารพรักหรือพ่อแม่ทั้งฝ่ายเป็นคนช่วยปูเตียง เรียงหมอนและส่งตัวเข้าหอ จากนั้นอวยพรคู่บ่าวสาวในการเริ่มต้นชีวิตคู่ เป็นอันเสร็จพิธี
  • ภาคใต้

    พิธีแต่งงานภาคใต้ที่นับถืออิสลาม เรียกพิธีแต่งงานว่า “พิธีนิกะห์” จะมีความเรียบง่าย แต่รายละเอียดข้อกำหนดอื่น ๆ อาจจะมีความเคร่งครัดสักหน่อยค่ะ เช่น การจัดพิธีแต่งงานจะไม่นิยมทำช่วงพิธีฮัจน์ คู่บ่าวสาวที่แต่งงานหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามต้องเข้าเป็นอิสลามก่อน ส่วนเรื่องที่ไม่จำเป็นเลยก็คือการหาฤกษ์แต่งงานค่ะ เพราะชาวมุสลิมไม่เชื่อเรื่องโชคลางนั่นเอง โดยจะมีพิธีดังต่อไปนี้

    ภาคใต้ พิธีแต่งงาน แต่งงาน แต่งงานภาคใต้

    Credit: Hadee Phuket Photographer – ช่างภาพภูเก็ต

  • พิธีสู่ขอ ฝ่ายชาบและฝ่ายหญิงที่มีความรักให้แก่กัน เมื่อตองการแต่งงาน พ่อแม่ของฝ่ายชายจะไปสู่ขอกับพ่อแม่ฝ่ายหญิง จากนั้นทางฝ่ายหญิงจะปรึกษากันประมาณ 7 วัน หากตกลงจะเริ่มคุยเรื่องกำหนดวันแต่งงานและสินสอดทองหมั้นค่ะ
  • พิธีหมั้น พอถึงกำหนด ฝ่ายชายจะยกของหมั้นไปที่บ้านฝ่ายหญิง ซึ่งสินสอดทองหมั้น ทรัพย์สินที่ฝ่ายชายมอบให้จะตกเป็นของฝ่ายหญิงเพียงผู้เดียว เมื่อได้รับแล้วจะปรึกษาหารือเพื่อกำหนดวันแต่งงานกันต่อไป
  • พิธีแต่งงาน (นิกะห์) บุคคลที่สำคัญที่จะต้องมีก็คือ ผู้ปกครองของฝ่ายหญิง และ พยานที่เป็นผู้เคร่งศาสนา มีคุณธรรม 2 คนค่ะ ขั้นตอนก็คือเมื่อแขกครบแล้วก็จะเริ่มพิธีโดยการอ่านอัลกุรอ่าน (บทที่ว่าด้วยการครองเรือน) แล้วกล่าวโอวาทสอนคู่บ่าวสาวเกี่ยวกับการใช้ชีวิตคู่
  • ภาคใต้ พิธีแต่งงาน แต่งงาน แต่งงานภาคใต้

    Credit: Hadee Phuket Photographer – ช่างภาพภูเก็ต

  • จากนั้นผู้ปกครองของฝ่ายหญิงและตัวเจ้าบ่าวเองจะต้องกล่าวบทนิกะห์โต้ตอบกันเป็นเหมือนการมอบลูกสาวให้ฝ่ายชายค่ะ จากนั้นชี้แจงเรื่องสินสอดโดยมีพยานรับทราบ จบพิธีด้วยการขอดุอา ซึ่งเป็นการขอพรจากพระเจ้านั่นเองค่ะ
  • ภาคใต้ พิธีแต่งงาน แต่งงาน แต่งงานภาคใต้

    Credit: Hadee Phuket Photographer – ช่างภาพภูเก็ต

  • งานเลี้ยงฉลอง (วาลีมะฮ์) หลังแต่งงานบ่าวสาวสามารถจัดงานเลี้ยงฉลองต่อได้ อาจจะคนละวันกับวันแต่งงานก็ได้ค่ะ แต่ไม่ควรที่จะเกิน 2 วันนะคะ
  • ภาคใต้ พิธีแต่งงาน แต่งงาน แต่งงานภาคใต้

    Credit: Hadee Phuket Photographer – ช่างภาพภูเก็ต

    เป็นอย่างไรบ้างคะกับความแตกต่างของพิธีแต่งงานในแต่ละภาคของประเทศไทย ถือว่าเป็นความรู้ที่คู่บ่าวสาวต้องศึกษาและเตรียมตัวเลยนะคะ เพราะการแต่งงานไม่เพียงแต่เป็นการเริ่มต้นของคนสองคน แต่เป็นการเริ่มต้นเกี่ยวพันธ์ของทั้งสองครอบครัว ซึ่งมานิตาแนะนำว่า หากคู่บ่าวสาวตระเตรียมพิธีการได้ถูกต้องตามแต่ละภาคแล้วละก็ ย่อมสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายแน่นอนค่ะ

    บริการงานเกี่ยวกับแต่งงาน

    การ์ดแต่งงาน handmade Set N
    การ์ดแต่งงาน
    ของชำร่วย wedding gift favor
    ของชำร่วย
    ของตกแต่งงานแต่งงาน ป้าย welcome PP board มานิตา manita
    ของตกแต่ง
    การ์ดแต่งงานออนไลน์ การ์ดแต่งงาน การ์ดแต่งงานมานิตา Manita wedding invitation
    การ์ดออนไลน์

    สาขา แจ้งวัฒนะ

    โทร : 02-760-4884 (10 คู่สาย)
    89/17 หมู่ 7 โครงการ เวิร์คเพลส-แจ้งวัฒนะ
    อ.ปากเกร็ด นนทบุรี
    Google map : ⏵ คลิกที่นี่

    สาขา ชลบุรี

    โทร : 02-760-4884 (10 คู่สาย)
    165/93 ซอย ศรีราชา-หนองค้อ 9
    อ.ศรีราชา ชลบุรี
    Google map : ⏵ คลิกที่นี่

    มานิตาเวดดิ้ง มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับคุณ ดูรายละเอียด